STEM Education กับการพัฒนาทักษะการสอนในศตวรรษที่ 21
Course Description
เอกสารประกอบหลักสูตร / Course Documentation
หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ได้จัดทำขึ้นในช่วงเวลาของการปฏิรูปประเทศท่ามกลางสถานการณ์โลกในศตวรรษที่ 21 ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเชื่อมโยงกันใกล้ชิดกันมากขึ้น การจัดการศึกษาเพื่อก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 เป็นแนวคิดตามความพยายามของรัฐบาลที่มีความมุ่งมันในการนำ“โมเดล ประเทศไทย 4.0 การพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนตามแนวทางดังกล่าวได้นั้น ต้องจัดการเรียนรู้ที่สอนให้ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้ที่มีอยู่มาบูรณาการเชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ มาตอบสนองความต้องการของสังคม ผู้ที่มีผลโดยตรงต่อการพัฒนาให้เด็กและเยาวชน ของประเทศมีทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับประเทศไทย 4.0 คือ ครู
ดังนั้นครูต้องมีความรู้ ความสามารถเพียงพอในการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่เหมาะสมสำหรับพัฒนาประเทศในยุคประเทศ ไทย 4.0 โดยครูจะต้องสามารถสอนให้ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ (analytic thinking)เป็นการคิดพื้นฐานสำคัญสำหรับการคิดขั้นสูงต่อไป การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) เป็นกระบวนการพิจารณาไตร่ตรองอย่างมีเหตุผล การคิดสร้างสรรค์(creative thinking)เป็นการคิดนอกกรอบจาก ความคิดเดิมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้ความคิดใหม่ ความคิดริเริ่ม หรือความคิดต้นแบบ และการคิดผลิตภาพ (productive thinking) เป็นการผลิตหรือสร้างผลงานออกมาเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนซึ่งจะเป็นนวัตกรรม และต้องมีความคิดรับผิดชอบ (Responsibility thinking)ในงานที่ทำในผลงานที่ผลิตขึ้น ซึ่งแนวทางในการส่งเสริมผู้เรียนให้มีทักษะดังกล่าว คือ สะเต็มศึกษา(Science Technology Engineering and Mathematics Education:STEM Education) เป็นแนวทางการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ไปใช้ในการเชื่อมโยงและแก้ปัญหาในชีวิตจริงได้
วัตถุประสงค์
(1) เพื่อพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพครู “สะเต็มศึกษาพัฒนาการเรียนรู้สู่ทักษะการสอนในศตวรรษที่ 21”
(2) เพื่อพัฒนาศักยภาพครูในการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการข้ามกลุ่มสาระวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science: S) เทคโนโลยี (Technology: T) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineer: E) และคณิตศาสตร์ (Mathematics: M)
(3) เพื่อจัดการความรู้ (Knowledge management : KM) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการ สะเต็มศึกษาพัฒนาการเรียนรู้สู่ทักษะการสอนในศตวรรษที่ 21
(4).เพื่อพัฒนานวัตกรรม STEM Education Innovation สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน
หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับ
ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณิตศาสตร์ และกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานพื้นฐานอาชีพ ระดับประถมศึกษา
คุณสมบัติของผู้เข้าอบรม
ครูผู้เข้ารับการอบรมต้องใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารได้ เช่น อินเตอร์เน็ตในการสืบค้นข้อมูลและโต้ตอบทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
หลักสูตรอบรมต่อเนื่อง
หลักสูตรนี้จะมีระยะเวลาในการดำเนินงานอยู่ 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1 อบรมเชิงปฎิบัติการ "สุข สนุก ปลุกการเรียนรู้ สู่ STEM Education"
- ระยะที่ 2 นิเทศติดตาม "มุ่งมั่น สร้างสรรค์ ชั้นเรียน STEM"
- ระยะที่ 3 การจัดนิทรรศการ “เติมเต็มความรู้ คืนสู่สังคม”
เนื้อหาการอบรม
1 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์และการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี ระดับชั้นประถมศึกษา
2 แนวคิดและทฤษฎีของ STEM Education
3 การจัดการเรียนรู้ STEM Education
4 ประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0)
5 การจัดสาระการพัฒนาหลักสูตรสะเต็มศึกษาพัฒนาการเรียนรู้สู่ประเทศไทย 4.0
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้ฝึกการเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และได้แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการสะเต็มศึกษา อย่างน้อย 5 แผน
- ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้แนวทางกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการสะเต็มศึกษาจากวิทยากร อย่างน้อย 5 กิจกรรม
- ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้เข้าร่วมเครือข่ายสะเต็มศึกษาภายในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา
- ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้เข้าร่วมเครือข่ายสะเต็มศึกษา โดยใช้กระบวนการ PLC มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่